เปรียบเทียบข้อแตกต่างและการใช้งานไมโครโฟน Dynamic และ Condenser
ไมโครโฟนคือหนึ่งในอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบเสียงที่เราคุ้นเคยที่สุด หลักๆคือไมโครโฟนทำหน้าที่ในการเปลี่ยนสัญญาณเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้าเหมือนๆกัน ที่เหลืออยู่ที่ว่า ออกแบบให้มีรูปร่างอย่างไร สำหรับการใช้งานแบบไหน งาน Live Sound งานสตูดิโอ งานประชุม หรืองานพูดในที่สาธารณะ แต่ถึงแม้จะมีหลากหลายแต่ไมโครโฟนก็แบ่งออกได้เป็นเพียงแค่ 2 ประเภทใหญ่ ๆ ก็คือ ไมโครโฟน Dynamic และ Condencer บทความนี้แอดมินจะมาเปรียบเทียบข้อแตกต่างและลักษณะการใช้งานของไมโครโฟนทั้ง 2 ประเภทนะครับ
การกำเนิดเสียง
ไมโครโฟน Dynamic ทำงานโดยการรับคลื่นเสียงและเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้าด้วยการขยับของขวดลวดผ่านสนามแม่เหล็ก โดยจะมี Diaphragm (แผ่นรับเสียง) ติดกับขวดลวดพันวนรอบแท่งแม่เหล็กเข้าโดยปลายขดลวดหรือ Coil จะติดกับตัวรับสัญญาณไฟฟ้า เมื่อคลื่นเสียงกระทบ Diaphragm ขวดลวดก็จะขยับเข้าออกเกิดเป็นปรากฏการเหนี่ยวนำสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Eletromagnetic Induction) เกิดเป็นคลื่นไฟฟ้าเพื่อไปขยายสัญญาณอื่น ๆ ต่อไป
ไมโครโฟน Condencer ทำงานของโดยการจ่ายกระแสไฟฟ้า แรงดันคงที่ไปที่ Diaphragm ที่มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ 2 แผ่นเว้นช่องว่างห่างกันเล็กน้อย เรียกว่า Diaphragm กับ Backplate เมื่อมีคลื่นเสียงมากระทบ จะทำให้ Diaphragm กับ Backplate เกิดการขยับเข้าใกล้และผลักออก ค่า Voltage ที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดเป็นสัญญาณทางไฟฟ้าเพื่อส่งต่อไปยังภาคขยาย
จุดเด่น
ไมโครโฟน Dynamic มีค่า Transient Response น้อย (ความรวดเร็วในการตอบสนองต่อคลื่นเสียง) ซึ่งข้อดีคือ จะรับเสียงหลักได้มากกว่า ไม่ค่อยอ่อนไหวต่อเสียงรอบข้าง ทำให้ไม่ต้องเพิ่ม gain ให้สูงมากเพื่อแข่งกับเสียงรบกวน จึงช่วยลดโอกาสในการเกิดเสียงฟี้ดแบ็คได้อีกด้วย คาแร็คเตอร์ของไมโครโฟนDynamic จะมีมวลของเสียงที่หนากว่าแต่ ในเรื่องความคมชัด ความสว่างและรายละเอียดเสียงจะน้อยกว่าแบบ Condencer
ไมโครโฟน Condencerมีค่า Transient Response หรือความไวต่อเสียงสูง จึงอ่อนไหวต่อเสียงรอบข้าง สามารถเก็บเสียงได้แม้จะเป็นเสียงที่เกิดเพียงเล็กน้อย อ่อนไหวต่อเสียงลม(wind) การสั่นสะเทือน เสียงลมจากการออกเสียงพยัญชนะตัว พ / ป /ช เป็นต้น จึงต้องมีอุปกรณ์ช่วยป้องกันการกระแทกเสียง (Pop Filter) หรืออุปกรณ์ลดการสั่นสะเทือน เพื่อช่วยลดเสียงเหล่านี้ คาแร็คเตอร์ของ Condencer Microphone หลักๆคือ เก็บรายละเอียดของเสียงได้ดี เสียงย่าน Hi สว่างชัด แต่จะขาดความอิ่มของเสียงย่านเบสในแบบ Dynamic
การใช้งาน
ไมโครโฟน Dynamic
สามารถรับแรงกระแทกของเสียงได้ดี จึงนิยมใช้รับเสียงเครื่องดนตรีที่มีแรงกระแทกกระทั้น เช่น ไมค์จ่อสแนร์ ไมค์จ่อกระเดื่องและกลองทอม รวมไปถึงใช้งานร่วมกับกับเครื่องขยายเสียงประเภทแอมป์กีตาร์ หรือแอมป์ต่างๆได้
เนื่องมาจากมีค่า Transient Response ที่น้อย ลดเสียงรบกวนได้ดี จึงนิยมใช้ในงานกลางแจ้งไม่ว่าจะเป็นงานงานพูดในที่สาธารณะหรืองานคอนเสิร์ตต่าง ๆ
ไมโครโฟน Condencer
สามารถเก็บรายละเอียดเสียงได้ดี นิยมใช้งานมากๆในสตูดิโอ เหมาะสำหรับบันทึกเสียงเครื่องดนตรีที่มีรายละเอียดของเสียงสูง ใช้บันทึกเสียงร้องหลัก งานบันทึกการเล่น cover การเล่นดนตรีหรือร้องเพลงในสตูดิโอ งานสัมภาษณ์ งาน Podasting เป็นต้น
ในงาน Live Sound มักจะถูกใช้ในการเก็บเสียงบรรยากาศเสียงรวมๆของเครื่องดนตรีเช่นไมโครโฟนโอเวอร์เฮดกลองชุด ไมโครโฟนจ่อกลุ่มเครื่องสาย ไมค์เก็บบรรยากาศในHall เป็นต้น
เอาเข้าจริงๆในการใช้งานก็ไม่ได้มีกฎตายตัวว่าไมโครโฟนแบบไหนต้องจ่ออะไรเท่านั้นนะครับ ในความเป็นจริงสภาพแวดล้อมของสถานที่ที่แตกต่าง หรือชนิดของเครื่องดนตรีที่มีความหลากหลาย ก็มีผลต่อการเลือกใช้ไมค์ หรือแม้กระทั่งรสนิยม ความถนัดของคนมิกซ์ก็มีผล ดังนั้นถ้าใช้แล้วดี ก็ใช้ๆไปเถอะครับไม่ผิดกฏิกา อยู่ที่ชอบหรือไม่ชอบ ดีหรือไม่ดี ถูกใจคนจ่ายตังค์เป็นอันจบครับ วันนี้แอดมินลาไปก่อน ไว้พบกันบทความต่อไปครับ