เคล็ดลับลดปัญหาเสียงไมค์หอน ด้วยการตั้งค่าเกนอินพุต (Gain Input)และการบาลานซ์ เฟดเดอร์
หนึ่งในปัญหาที่กวนใจพี่น้องซาวด์เอ็นจิเนียร์หรือพี่น้องนักดนตรีที่จับพลัดจับผลูต้องปรับเสียงตัวเองเวลาเล่นตรีทั้งงานอีเว้นท์หรือเล่นตามร้านก็คือ เสียงไมค์หอนหรือเสียง Feedback เห็นด้วยไหมครับ ซึ่งไอ้เจ้าเสียง Feedback หรือภาษาบ้าน ๆ คือเสียงไมค์หอนเนี่ยมันก็ดันสามารถเกิดได้ทั้งย่านเสียงสูงและย่านเสียงต่ำซะด้วยสิ ถ้าในย่านเสียงสูงจะเป็นลักษณะเสียงหวีด
แหลมแสบหู ถ้าเกิดในย่านเสียงต่ำก็จะเป็นลักษณะเสียงหึ่งๆ ทะลุทะลวงขึ้นมาจากลำโพงมอนิเตอร์หรือพีเอ และยิ่งดังขึ้นเรื่อยๆ หากเราไม่รีบทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหาได้ทันท่วงที
อันที่จริงแล้วการแก้ไขเสียงไมค์หอนหรือเสียง Feedback นั้นมีอยู่หลายวิธี ทั้งการจัดการระบบเสียงให้ถูกต้อง การเพิ่มมอนิเตอร์ให้เพียงพอ รวมถึงการจัดการด้วยกราฟฟิคอีคิว ซึ่งวิธีที่ว่ามาทั้งหมดก็ล้วนแต่ใช้จัดการได้ดี แต่ถ้ามันยังเกิดปัญหาล่ะ ถ้าเราเป็นซาวด์ไปแทนระบบคนอื่นที่ไปวุ่นวายกับระบบเขาลำบากล่ะ หรือเราเป็นนักดนตรีที่ต้องปรับมิกเซอร์เองล่ะ ในบทความนี้ทางเพจเราขอแนะนำวิธีที่ใกล้ตัวที่สุดและมีประสิทธิภาพและสามารถจัดการด้วยตัวเราเองได้ง่าย ๆ ก็คือ การตั้งค่า เกนอินพุต(Gain Input) และการบาลานซ์เฟดเดอร์ ให้เหมาะสมนั่นเอง
ซึ่งการเพิ่มเกน (Gain )หรือลดเกนเนี่ย มันก็คือการเพิ่มหรือลดอัตราขยายสัญญาณ มีผลต่อรายละเอียดของเสียง ส่วนการเพิ่มหรือลดเฟดเดอร์ คือ
การเพิ่มหรือลดความดังนั่นเอง สองสิ่งนี้เราควรต้องบาลานซ์ให้เกิดความเหมาะสม เพราะหากเราดัน
เฟดเดอร์สูง แต่ เพิ่มเกนอินพุต (Gain Input)น้อย จะทำให้เสียงร้องหรือเครื่องดนตรีขาดรายละเอียดของเสียง และเกิดเสียงรบกวนหรือ Noise Floor ในระบบ
ในทางตรงกันข้าม หากดันเฟดเดอร์น้อย แต่เพิ่มเกนอินพุต (Gain Input) มากเกินไป ก็จะเกิดโอกาสที่
จะรับเสียงอื่นเข้ามามาก จนทำให้เกิดเสียงไมค์หอน หรือ Feedback ได้นั่นเอง
วิธีการง่าย ๆ คือ เมื่อเสียบเครื่องดนตรีที่มิกเซอร์ โดยไมโครโฟนเสียบที่ช่องไมค์ และเครื่องดนตรีเสียบที่ช่องLine หรือ D.I แล้วให้หมุนเกนลงต่ำสุด จากนั่นดันเฟดเดอร์ขึ้นมาที่ระดับ 0 dB(ทำไมต้องศูนย์ไว้จะมาเล่าในโอกาสต่อไปนะครับ) แล้วค่อยๆหมุนเกนขึ้นมาจนได้ยินเสียงในระดับที่ต้องการ หากรู้สึกว่าเสียงดังโดยยังไม่ทันเพิ่มเกนนั่นแปลว่าเครื่องดนตรีมีระดับสัญญาณที่สูงเกินไปก็ให้กดปุ่ม pad เพื่อให้สัญญาณเบาลงพอให้เราสามารถเพิ่มเกนได้เพื่อเอารายระเอียดของเสียงที่ดี ด้วยวิธีการนี้จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับระดัสัญญาณได้อย่างเหมาะสม และช่วยลดโอกาสที่จะเกิดเสียง Feedbackได้อย่างดีเลยทีเดียวครับ ขอบคุณที่ติดตามอ่าน ขอให้โชคดีมีความสุขในการปรับเสียงหรือเล่นดนตรีทุกท่านนะครับ