การฟังเสียงดังมากๆ อันตรายแค่ไหน และเราควรป้องกันอย่างไร

หูเป็นหนึ่งในอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างมากๆ สำหรับอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเสียงไม่ว่าจะเป็นพี่น้องนักดนตรี พี่น้องซาวด์เอนจิเนีย และสเตจแฮนด์หรือสเตจเทคนิเชี่ยนทุกท่าน แต่เอาจริงๆก็ทุกอาชีพเลยนะครับ เพียงแต่สายอาชีพที่กล่าวมาข้างต้น เป็นอาชีพที่ต้องใช้หูในการทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นในการมิกซ์เสียง การจูนอุปกรณ์ การซับพอร์ตบนเวทีในขณะโชว์ ซึ่งทำงานอยู่กับเสียงที่มีความดังมากๆตลอดระยะเวลาในการทำงาน หูจึงเกี่ยวข้องกับอาชีพเหล่านี้โดยตรง มีผลต่อการทำงานโดยตรง บทความนี้จะกล่าวถึงอันตรายจากการฟังเสียงดังนานๆที่หลายๆท่านจะยังไม่ทราบหรือละเลยไปบ้าง พร้อมแนวทางป้องกันนะครับ

อันตรายจากการทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังมากๆโดยไม่ได้ป้องกันนั้น หลายคนอาจะคิดว่าแค่ส่งผลต่อหูเท่านั้น แต่ในความจริงมันมีผลต่อระบบการทำงานอื่นๆของร่ายกายด้วยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด การขาดสมาธิในการทำงาน ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน การฟังเสียงดังทำให้กระเพาะหลั่งน้ำย่อยมากขึ้น ส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือบางกรณีก็อาจเกิดความดันโลหิตสูง หรือต่อมไธรอยด์เป็นพิษได้

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ หูของคนเรานั้น จะมีความสามารถในการรับฟังเสียงที่ดังได้แค่ในระดับหนึ่ง หากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสียงดังมากๆจะทำให้เซล์ขนและประสาทรับเสียงเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการฟังลดลงจนเกิดเป็นอาการหูตึง และหากยังละเลยและยังอยู่ในสภาพแวดล้อมทางเสียงที่อันตรายต่อไปบ่อยๆ เรื่อยๆ ก็จะทำให้หูหนวกได้ อันนี้จะถึงขั้นไม่ได้ยินเสียง และจะส่งผลต่อต่ออาชีพและการใช้ชีวิตที่ยากลำบากขึ้นกันเลยทีเดียวนะครับ

อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเริ่มคิดตาม เอ ความดังระดับไหนบ้างนะที่ถือว่าไม่ปลอดภัย อันนี้แอดมินจะขออิงตามเกณฑ์กำหนดของระดับเสียงที่เป็นอันตราย ที่กรมแรงงาน กระทรวง มหาดไทย ที่ได้กำหนดมาตรฐานของระดับเสียงในสถานประกอบการต่าง ๆในประเทศไทย ซึ่งมีดังต่อไปนี้คือ

1. ได้รับเสียงไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง ต้องมีระดับเสียงติดต่อกันไม่เกิน 91 เดซิเบล

2. ได้รับเสียงวันละ 7-8 ชั่วโมง ต้องมีระดับเสียง ติดต่อกันไม่เกิน 90 เดซิเบล

3. ได้รับเสียงเกินวันละ 8 ชั่วโมง ต้องมีระดับเสียง ติดต่อกันไม่เกิน 80 เดซิเบล

4. นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในที่ ๆ มีระดับเสียงเกิน 140 เดซิเบล ไม่ได้

เมื่อลองเอาค่าเหล่านี้มาเทียบกับงาน Live Sound ซึ่งระดับเสียงในงานคอนเสิร์ตทั่วไป มักจะมีค่าความดังมาตรฐานอยู่ที่ประมาณ 80 ถึง 100 เดซิเบล ที่ระยะ front of house จึงถือว่าเป็นความดังอยู่ในระดับที่อันตรายเมื่อต้องฟังนานๆ แต่มันก็เป็นสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับคนทำงานเสียงอย่างเราๆกัน ดังนั้นแอดมินจึงมีแนวทางป้องกันมาแนะนำกันครับ

แนวทางในการป้องกันหรือลดอันตรายจากการทำงานในสภาพแวดล้อมที่เสียงดัง

แม้จะทราบถึงอันตรายจากการที่เราได้รับเสียงที่ดังเกินไปแล้ว แต่ในชีวิตเราอาจหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องอยู่ในที่ๆมีเสียงดังไม่ได้ เพราะเป็นอาชีพที่ต้องอยู่ในที่ๆมีเสียงดังๆอยู่แล้ว เราก็ควรมีวิธีป้องกันดังต่อไปนี้ คือ

– หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ๆมีกิจกรรมการใช้เสียงดังมากๆเป็นเวลานานๆ เช่น เทศกาลงานวัด งานคอนเสิร์ต เป็นต้น อันนี้อาจจะยากสักหน่อยนะครับเพราะเป็นสายอาชีพของเราโดยตรง

– จากข้อข้างต้น เมื่อต้องฟังเสียงดังนานๆ อย่าอยู่กับมันนานเกินไป เดินห่างออกมาจากเสียงดังบ้าง หากไม่มีอุปกรณ์ป้องกันการได้ยิน เพื่อเป็นการพักหู

– ใส่ เอียร์ปลั๊ก หรืออุปกรณ์ป้องกันการได้ยิน เพื่อลดความดังของเสียงลง ข้อนี้ดูจะเป็นแนวทางที่เหมาะกับอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเสียงอย่างพี่ๆน้องๆเรามากที่สุด ซื้อติดตัวกันไว้กับตัวสักชุดนะครับ มันจะช่วยปกป้องหูที่เรารักให้อยู่กับเรานานๆให้เราได้ทำงานอาชีพที่เรารักไปนานๆ อย่าลืมนะครับหูคนเราไม่มีอะไหล่ทดแทนเสียแล้วเสียเลย แต่เราป้องกันการสูญเสียได้นะครับ ไว้พบกันบทความต่อไปครับ